วันอังคารที่ 4 มกราคม พ.ศ. 2554

อุทยานแห่งชาติผาแต้ม

ผาแต้ม (Pha Taem)
      อุทยานแห่งชาติผาแต้มตั้งอยู่ในเขตพิกัดทางภูมิศาสตร์ ละจิจูด ที่ 15. 23´- 15 46´เหนือ และลองจิจูดที่ 105. 38´ตะวันออก ที่ทำการอุทยานแห่งชาติ ตั้งอยู่ที่บริเวณบ้านหนองผือน้อย ตำบลห้วยไผ่ อำเภอโขงเจียม จังหวัดอุบลราชธานี ห่างจากตัวเมืองจังหวัดอุบลราชธานี ประมาณ 95 กิโลเมตร ณ บริเวณศูนย์บริการนักท่องเที่ยวของอุทยานแห่งชาติผาแต้มซึ่งตั้งอยู่บนลานหินทรายของภูผาขาม ยังมีร้านอาหารประเภทอาหารตามสั่ง และอาหารท้องถิ่นจำพวกกุ้ง และปลาจากแม่น้ำโขง ร้านค้าจำหน่ายของที่ระลึก และสินค้า OTOP ของหมู่บ้านรอบแนวเขตอุทยานแห่งชาติผาแต้ม
นอกจากนี้ ที่หมู่บ้านปากลา ซึ่งเป็นหมู่บ้านที่ตั้งอยู่ทิศตะวันออกสุด ของประเทศไทย ยังใช้เป็นจุดวัดพิกัดความกว้างสุดของ ประเทศไทยไปยัง อำเภอด่านเจดีย์สามองค์ จังหวัดกาญจนบุรี
ลักษณะภูมิประเทศ
สภาพภูมิประเทศ (Topography)

สภาพโดยทั่วไป เป็นที่ราบสูงและเนินเขาสูงชัน ลักษณะสูงต่ำสลับกันทั่วพื้นที่ ลักษณะทางธรณีวิทยาเกิดจากการแยกตัวของผิวโลก เป็นเทือกเขาเดียวกับเทือกเขาพนมดงรัก หรือ ดงเร็ก ซึ่งเขาพระวิหารตั้งอยู่ ตามแผนที่ทางธรณีวิทยา ให้ชื่อหน่วยภูพานและพระวิหารเป็นภูเขาหินทรายมีที่ราบอยู่บ้างแถบริมห้วยและตามแนวแม่น้ำโขง ในส่วนที่ราบสูงแต่ละแห่งมีเนื้อที่ 800 – 1,300 ไร่ ห่างจากลำน้ำประมาณ 1 – 2 กิโลเมตร จะเป็นหน้าผาสูงชัน ยอดเขาที่สูงที่สุดในเขตอุทยานแห่งชาติผาแต้ม คือยอดเขาภูจันทร์แดง มีความสูงประมาณ 461 เมตร ระดับความสูงปานกลางน้ำทะเล และความลาดชันลดหลั่นลงมาทางด้านแม่น้ำโขง ความสูงของพื้นที่โดยเฉลี่ยประมาณ 200 เมตร จากระดับน้ำทะเล และจากแผนที่ธรณีวิทยามาตราส่วน 1: 500,000 ของกรมทรัพยากรธรณี กระทรวงอุตสาหกรรม พื้นที่ทั่วไปมีหินทรายโผล่เป็นลานหินกระจัดกระจายทั่วพื้นที่ ดินที่พบในแถบที่ราบลุ่มเป็นดินร่วนปนทราย และดินเหนียวแถบริมแม่น้ำ มีตะกอนและฮิวมัสมาก และห้วยที่สำคัญ เช่น ห้วยใหญ่ ห้วยสร้อย ห้วยหละหลอย ห้วยพอก ฯลฯ ห้วยต่าง ๆ เหล่านี้ส่วนใหญ่จะไหลลงสู่แม่น้ำโขง

ลักษณะหิน (Stone)
1. หินหน่วยภูพาน (Phu Phan Formation ) เป็นหินทราย (Sandstone) สีขาว สีส้มเรื่อ สีน้ำตาลปนเหลือง มีการตกทับถมเป็นรอยชั้นขวาง (Crossbedding sedimentation ) อยู่เป็นหินที่เกิดในยุค Cretaceous (ประมาณ 132 ล้านปีมาแล้ว)
2. หินหน่วยเสาขรัว (Sao Khua Formation ) เป็นหินทรายสีน้ำตาลอมแดง สีเทา และหินทรายแป้ง (Silt Stone) ที่ส่วนใหญ่จะมีแร่ไมก้าปนอยู่ มีสีเทา สีน้ำตาล บางส่วนจะปนหินกรวดมน และหินดินดาน (Shale) สีน้ำตาลอมม่วงและแดงอิฐ เป็นชั้นหินที่มีอายุเก่ากว่าชั้นหินหน่วยภูพานอยู่ในยุค Jurassic (180 ล้านปีผ่านมา)
3. หินหน่วยพระวิหาร (Phra Wihan Formation) เป็นหินทรายสีขาว สีชมพู ตอนบนของชั้นหินกรวดทรายจะมีชั้นขวาง บางส่วนจะเป็นดินดานที่มีสีน้ำตาลอมแดง และสีเทา
ลักษณะดิน (Soil Feature)
ลักษณะของดิน ในอุทยานแห่งชาติผาแต้ม ตามแผนจัดการสำรวจดินจังหวัดอุบลราชธานี มาตราส่วน
1 : 250,000 จัดทำโดยกองสำรวจ และจำแนกดิน กรมพัฒนาที่ดิน พื้นที่ส่วนใหญ่ปกคลุมด้วยป่าเต็งรัง ส่วนในพื้นที่เล็กๆ นั้นส่วนใหญ่ใช้ในการปลูกพืช ซึ่งโดยหลักการแล้วดินชุดนี้ไม่เหมาะสมกับการเพาะปลูก เนื่องจากเนื้อดินไม่อุ้มน้ำ มีความอุดมสมบูรณ์ต่ำ และยังเกิดกษัยการอย่างรุนแรงอีกด้วย ดังนั้นการเพาะปลูกจึงควรจะต้องแก้ไขปัญหาดังกล่าวเสียก่อน
ชุดดินโพนพิสัย (Phon Pai Say Series) เป็นกลุ่มดินหลักที่พบทั่วไปในประเทศไทยเช่นกัน ตามที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ประเทศสหรัฐอเมริกา (USDA) จัดไว้อยู่ในกลุ่มของ Red Yellow Podzolic Soil เป็นดินเก่าที่มีหน้าดินดี พบทั่วไปบริเวณภูเขา และที่ลาดเชิงเขา หรือที่ราบขั้นบันไดเก่า เกิดจากวัตถุต้นกำเนิดดินที่มาจากหลายประเภท ส่วนใหญ่เป็นหินที่มีปฏิกิริยาที่เป็นกรด หรือปฏิกริยาที่ดินเป็นกลาง ที่มีการระบายน้ำได้ดี ลักษณะของเนื้อดินเปลี่ยนแปลงได้มาก ลักษณะดินค่อนข้างหยาบ ถึงค่อนข้างละเอียด สีของดินจะเป็นสีแดงเหลืองปนแดง และเหลือง
พื้นที่ส่วนใหญ่ที่พบดินโพนพิสัยนี้ ถูกปกคลุมด้วยป่าเต็งรังและเสื่อมโทรม หรือแม้ทุ่งหญ้ามีเพียงเล็กๆ ที่เป็นการเพาะปลูกพืชไร่ และมักพบศิลาแลงในชั้นดินที่มีความลึกตั้งแต่ 30 เซนติเมตร เป็นต้นไป แต่ในกลุ่มหลักแล้วดินชุดนี้ไม่เหมาะแก่การทำการเกษตรในที่สูง เนื่องจากการเกิดกษัยการอย่างรุนแรงมาก อีกทั้งความอุดมสมบูรณ์ของดินต่ำ กักเก็บน้ำได้ยากจึงไม่เหมาะแก่การทำนา
หน่วยดินผสม (Ploppe Complex) เป็นดินที่ประกอบด้วยชุดดินอย่างน้อย 2 ชุดขึ้นไป เป็นดินที่เกิดในภูมิประเทศติดต่อกัน มีลักษณะการพบชุดของดินที่สับสน ในพื้นที่กษัยการที่เป็นดินที่เกิดขึ้นบนที่มีความลาดชันสูง วัตถุที่ให้กำเนิดเป็นหินทราย เนื้อดินจึงมีความหยาบ การระบายน้ำได้ดี จึงเหมาะแก่การเพาะปลูก รวมทั้งกษัยการของดินยังรุนแรงบริเวณที่พบ ดินชุดนี้จึงเป็นพื้นที่ป่าเสื่อมโทรม หรือป่าเต็งรัง ความอุดมสมบูรณ์ของดินก็ต่ำไปด้วย
ตะกอนใหม่ (Recent Aulluvium) เป็นดินที่เกิดจากการพัดพาของน้ำ เช่น กรวด หิน ดิน ทราย และสิ่งอื่นๆ ณ บริเวณใดบริเวณหนึ่งมาสะสมไว้เกิดเป็นที่ราบข้างตลิ่ง มักจะมีอินทรีย์สารสูง สีดินเข้ม เนื้อดินร่วนซุย เหมาะแก่การเพาะปลูกพืชที่ต้องการน้ำมาก
หน่วยดินที่ 2 สภาพพื้นที่ ลาดชันเล็กน้อยถึงปานกลาง ความลึกของดินลึก ลักษณะของดินมีเนื้อหินดินค่อนข้างหยาบถึงปานกลาง มีการระบายน้ำดี ความอุดมสมบูรณ์ของดิน ปานกลาง การใช้ประโยชน์ปลูกพืชไร่
หน่วยดินที่ 3 สภาพพื้นที่ ลาดชันเล็กน้อยถึงสูง ความลึกของดิน ตื้นถึงค่อนข้างตื้น ลักษณะของดิน มีเศษหิน กรวด ลูกรังปะปนในชั้นดิน การระบายน้ำดีถึงค่อนข้างเลว ความอุดมสมบูรณ์ของดินต่ำ การใช้ประโยชน์พื้นที่เป็นไม้พุ่ม
หน่วยดินที่ 4 สภาพพื้นที่ ลาดชันปานกลางถึงสูง ความลึกของดิน ตื้น มีหินโผล่ลักษณะของดินเป็นบริเวณที่ดินตื้นมีหินโผล่ หรือโขดหินล้วน ความอุดมสมบูรณ์ของดินต่ำมาก การใช้ประโยชน์เป็นพื้นที่ป่า
ดินชุดโคราช (Korat Series) เป็นดินที่เกิดจากตะกอนของน้ำเก่าเช่นกัน ดินชั้นบนลึกระหว่าง 0- 60 เซนติเมตร เป็นดินร่วน หรือร่วนปนทราย ส่วนที่ลึกเกิน 60 เซนติเมตร ลงไป จะมีเนื้อดินละเอียดกว่าเป็นพวกดินร่วนปนทราย หรือดินร่วน บางแห่งอาจเป็นดินร่วนปนดินเหนียว แต่โดยทั่วไปแล้วจะพบเนื้อดินพวกดินร่วนปนทรายตลอดทุกชั้นของดิน ดินชั้นบนจะมีสีน้ำตาลปนเทา เมื่อเปียกน้ำจะมีสีเข้มขึ้น เมื่อแห้งจะมีสีเทาอ่อน ดินชั้นล่างมีสีน้ำตาล หรือน้ำตาลปนเหลือง จุดสีในดินส่วนมากไม่ค่อยมีจุดสีปรากฏให้เห็น ในดินชั้นบนเห็นได้ชัดกว่าดินชั้นล่างแต่จะมีบ้างในดินชั้นล่างที่มีเนื้อดินเป็นดินร่วนปนทรายมีความเป็นกรดด่างประมาณ 4.5 - 5.5 การระบายน้ำอยู่ในเกณฑ์ปานกลางถึงดี จะไม่พบศิลาแลงในระดับความลึก 0 - 60 เซนติเมตร
แหล่งน้ำ (Hydrological Resources)
พื้นที่อุทยานแห่งชาติผาแต้ม มีสายน้ำสำคัญคือ แม่น้ำโขง ใช้เป็นเส้นแบ่งพรมแดนระหว่างประเทศไทย และสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาวไหลผ่านแนวเขตอุทยานแห่งชาติผาแต้ม ทางด้านทิศตะวันออก และทิศเหนือ เป็นระยะทาง 63 กิโลเมตร ในฤดูแล้งมีระดับน้ำแตกต่างกันประมาณ 15 เมตร ฤดูฝน ระดับน้ำขึ้นสูงสุดในเดือน สิงหาคม - กันยายน


ลักษณะภูมิอากาศ
สภาพอากาศของอุทยานแห่งชาติผาแต้มสามารถแบ่งออกเป็น 3 ฤดู ได้แก่ ฤดูฝน เริ่มตั้งแต่เดือน มิถุนายน–กันยายน ฤดูหนาว เริ่มตั้งแต่เดือน ตุลาคม–กุมภาพันธ์ ฤดูร้อน เริ่มตั้งแต่เดือน มีนาคม–พฤษภาคม อุณหภูมิในแต่ละฤดูแตกต่างกันอย่างมาก ในฤดูฝนจะมีพายุฝนฟ้าคะนอง โดยมีปริมาณน้ำฝนเฉลี่ย 1800 มิลลิเมตร ต่อปี ในฤดูหนาวอากาศเย็นและแห้งแล้ง ความชื้นในบรรยากาศมีน้อย โดยมีอุณหภูมิ ตำสุดเฉลี่ย 19.0 องศา ในฤดูร้อนอากาศร้อนจัด ต้นไม้ใบหญ้าแห้ง มีอุณหภูมิสูงสุดเฉลี่ย 35.0 องศา

พืชพันธุ์และสัตว์ป่า
สภาพป่าโดยทั่วไปเป็น ป่าเต็งรัง เสียส่วนใหญ่ ตามพื้นที่มีหินโผล่ ลักษณะเป็นป่าโปร่งต้นไม้ขนาดกลาง และขนาดเล็ก แต่มีความสวยงามตามธรรมชาติ พันธุ์ไม้ที่สำคัญ ได้แก่ เต็ง รัง เหียง ประดู่ และเหมือดต่างๆ พืชพื้นล่างเป็นพวกไผ่ป่า หญ้าต่างๆ ข่อยหิน และยังมีไม้ดอกที่สวยงามขึ้นอยู่ตามซอกลานหินทั่วไป เช่น หยาดน้ำค้าง แดงอุบล เอ็นอ้า เหลืองพิสมร กระดุมเงิน ตั้งไก่(หัวไก่โอก) มณีเทวา ขึ้นอยู่เป็นจำนวนมากกระจายทั่วพื้นที่ สภาพป่าจะเปลี่ยนเป็น ป่าดิบแล้ง ในบริเวณที่ราบลุ่มแถบริมห้วยหรือริมแม่น้ำ เนื่องจากมีความชุ่มชื้นพอประมาณตลอดปี นอกจาก นี้ ยังพบป่าสนสองใบที่ขึ้นเองตามธรรมชาติ กระจัดกระจายในส่วนที่เป็นพื้นราบบนภูต่างๆ ทั่วพื้นที่

สัตว์ป่า ประเภทสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมขนาดใหญ่ยังไม่พบ พบแต่ขนาดเล็กลงมา สัตว์ป่าที่พบได้ทั่วไป เช่น อีเห็น สุนัขจิ้งจอก กระต่ายป่า อีเก้ง ชะมด บ่าง ในฤดูแล้งเมื่อระดับน้ำในแม่น้ำโขงลดลงมาก จะพบเห็นสัตว์ประเภทหมูป่า เลียงผา ว่ายน้ำข้ามมาจากฝั่งประเทศลาวอยู่เสมอๆ เนื่องจากอาณาเขตบางส่วนอยู่ในลำน้ำโขงมีปลาน้ำจืดชนิดต่างๆ มากมาย ได้แก่ ปลาบึก ปลาตะเพียน ปลาคลัง ปลาเทโพ ปลากรด ปลาตูนา ปลาหมอ ปลากาย ปลาแข้เป็นต้น นกนานาชนิดที่พบเห็น เช่น นกขุนทอง นกยูง เหยี่ยว อีกา นกขุนแผน นกกระเต็น เป็นต้น

การเดินทาง
รถยนต์

จากจังหวัดอุบลราชธานีไปยังอำเภอโขงเจียม ระยะทางประมาณ 80 กิโลเมตร แล้วเดินทางไปตามเส้นทางยุทธศาสตร์สายโขงเจียม-เขมราฐ อีก 15 กิโลเมตร เลี้ยวขวาต่อไปอีก 5 กิโลเมตร จะถึงภูผาขาม ท้องที่บ้านหนองผือน้อย ตำบลห้วยไผ่ อำเภอโขงเจียม ซึ่งที่ทำการอุทยานแห่งชาติผาแต้มตั้งอยู่ ปัจจุบันเส้นทางนี้ไปสิ้นสุดบนลานภูผาขาม เป็นส่วนที่ตั้งของศูนย์บริการนักท่องเที่ยว



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น